: Patong Hotel Association

 
   

About Us

หมวดที่ 1: บททั่วไป


ข้อ 1. ชื่อของสมาคมการค้า สมาคมการค้านี้มีชื่อว่า " สมาคมโรงแรมหาดป่าตอง " เขียนชื่อเป็น อักษรภาษาอังกฤษว่า " PATONG HOTEL ASSOCIATION " เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า " ป่าตอง โฮเต็ล เอสโซซิเอชั่น " โดยใช้ชื่อย่อภาษาไทยว่า " ส.ร.ป." และชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า " P.H.A. " คำว่า " สมาคม " ที่จะกล่าวต่อไปในข้อบังคับนี้ให้หมายถึง " สมาคมโรงแรมหาดป่าตอง "

ข้อ 2. สำนักงานของสมาคม ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 9/8 ซอยพระบารมี 6 ถนนพระบารมี ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ ภูเก็ต 83150 โทรศัพท์ 076 – 292510 - 12 โทรสาร 076-292512


ข้อ 3. ตราของสมาคม มีเครื่องหมายเป็นรูป ดังนี้



Logo -  Patong Hotel Association


ตราของสมาคมนี้มีเครื่องหมายเป็นรูปใบตองสองใบอยู่ด้านหน้ารูปเหมือนหน้าจั่วทรงไทยสองอันด้านล่างมีอักษร ภาษาไทยว่า " สมาคมโรงแรมหาดป่าตอง " และถัดลงมามีอักษรภาษาอังกฤษว่า " PATONG HOTEL ASSOCIATION"

คำอธิบายความหมายของตราสมาคม

  • ใบตอง หมายถึง ป่าตอง
  • หน้าจั่วทรงไทย หมายถึง สัญลักษณ์ของโรงแรม

หมวดที่ 2: วัตถุประสงค์


ข้อ 4. สมาคมนี้มีวัตถุที่ประสงค์ดังต่อไปนี้ .-

  1. ส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการโรงแรมโดยตรง
  2. ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกของสมาคมฯ ให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
  3. ส่งเสริมความร่วมมือในการจัดกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อบุคคลากรในโรงแรม
  4. แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ต่างๆ
  5. แลกเปลี่ยน วิจัย เผยแพร่ความรู้ ข่าวสาร ความคิดเห็น เอกสาร สถิติ
  6. ส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาสังคม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จารีตประเพณีท้องถิ่น รักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น
  7. ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของสมาคมฯ กับหน่วยงานอื่นๆทั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ เอกชน หรือสมาคมอื่นๆ บรรดาที่เกี่ยวข้องตามวัตถุประสงค์ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ เอกชน หรือสมาคมอื่นๆ บรรดาที่เกี่ยวข้องตามวัตถุประสงค์
  8. ส่งเสริมการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในภาคอุตสาหกรรมโรงแรม
  9. สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องต่าง ๆ รวมทั้งเจรจาทำความตกลงกับ บุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์ร่วมกันในการประกอบธุรกิจโรงแรม สอดส่องและติดตามความ เคลื่อนไหวของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ
  10. ร่วมมือกับเจ้าพนักงาน องค์การของรัฐบาลรัฐวิสาหกิจ หรือสมาคมอื่นๆบรรดาที่เกี่ยวข้องตาม วัตถุวัตถุประสงค์
  11. รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน สิ่งของและหลักทรัพย์ต่างๆ
  12. ไม่ทำการค้าและไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วยวิธีใดๆ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม

หมวดที่ 3: สมาชิกและสมาชิกภาพ


ข้อ 5. คุณสมบัติของสมาชิก สมาชิกของสมาคมการค้านอกจากคุณสมบัติตามข้อ 6 แล้ว ยังต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้ คือ.-

  1. มีภูมิลำเนาหรือธุรกิจในพื้นที่บริเวณหาดป่าตอง ตำบลป่าตอง
  2. ประกอบอาชีพโดยตรงในธุรกิจโรงแรม
  3. แสดงความจำนงขอเข้าเป็นสมาชิก โดยรับรองว่ายอมปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ มติที่ประชุม
  4. คณะกรรมการมีมติเห็นชอบรับเข้าเป็นสมาชิกเป็นเอกฉันท์

ข้อ 6. ประเภทสมาชิก สมาชิกของสมาคมแบ่งออกเป็น 3 ประเภท และมีคุณสมบัติดังนี้ คือ.-

  1. สมาชิกสามัญ ได้แก่ นิติบุคคลที่มีคุณสมบัติตามข้อ 4(1) ทั้งนี้ให้นิติบุคคลนั้นๆ ตั้งตัวแทนจำนวน 1 คน มาร่วมดำเนินกิจกรรมกับสมาคม
  2. สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ บุคคลธรรมดา ห้างร้าน หน่วยงานหรือนิติบุคคล ที่ไม่มีคุณสมบัติ ที่ระบุไว้ในหมวดที่ 3 ข้อ 5(2) มีความสนใจยื่นความจำนงสมัครเป็นสมาชิก โดยรับรองยอมปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ และคณะกรรมการบริหารมีมติเห็นชอบรับเข้าเป็นสมาชิก
  3. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ มีประสบการณ์ มีความสนใจในการโรงแรม หรือผู้มีอุปการะต่อสมาคม หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโรงแรม ซึ่งคณะกรรมการลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้เชิญเข้าเป็นสมาชิก และบุคคลนั้นตอบรับคำเชิญเป็นลายลักษณ์อักษร

ข้อ 7. การสมัครเข้าเป็นสมาชิก ผู้ที่ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมจะ ต้องยื่นความจำนง ต่อเลขานุการ หรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขานุการตามแบบพิมพ์ที่สมาคมได้กำหนดไว้ โดยมีสมาชิกสามัญเป็นผู้รับรองอย่างน้อยสองคน

 

ข้อ 8. การพิจารณาคำขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก ให้เลขานุการ หรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขานุการ นำใบสมัครเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการในคราวต่อไป หลังจากที่ได้รับใบสมัครเมื่อคณะกรรมการมีมติให้รับหรือไม่รับผู้ใดเข้าเป็นสมาชิก ให้เลขานุการ มีหนังสือแจ้งให้ผู้นั้นทราบภายในเจ็ดวัน นับแต่วันลงมติ

 

ข้อ 9. ทะเบียนสมาชิก ให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนสมาชิกไว้ โดยมีรายการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พุทธศักราช 2509

 

ข้อ 10. การขาดจากสมาชิกภาพ สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลง ในกรณีดังต่อไปนี้

  1. ตายหรือสิ้นสภาพนิติบุคคล
  2. ขาดคุณสมบัติตามข้อ 5
  3. ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการเห็นชอบ
  4. ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย
  5. ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
  6. ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เว้นแต่เป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่อัตราโทษ ไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
  7. คณะกรรมการลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนสมาชิก โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ดังต่อไปนี้ .-
    1. กระทำการใด ๆ ที่ทำให้สมาคมเสื่อมเสียชื่อเสียงโดยเจตนา
    2. กระทำการละเมิดข้อบังคับโดยเจตนา
    3. ไม่ชำระเงินค่าบำรุงประจำปี และได้รับใบเตือนจากเจ้าหน้าที่ครบสามสิบวันแล้ว

หมวดที่ 4: สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก


ข้อ 11. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสามัญ

  1. มีสิทธิเข้าร่วมการประชุมใหญ่ แสดงความคิดเห็นออกเสียงเลือกตั้งกรรมการบริหาร ออกเสียงลงมติตามระเบียบวาระการประชุมใหญ่
  2. มีสิทธิได้รับการพิจารณารับเลือกตั้หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารสมาคม
  3. เสนอความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำต่อสมาคม หรือคณะกรรมการในเรื่องใดๆ อันอยู่ในวัตถุประสงค์ของสมาคมเพื่อนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของสมาคม
  4. มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่าจำนวนครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด เพื่อพิจารณาเรื่องที่ต้องได้รับการปฏิบัติเป็นการด่วน ขอให้เรียกประชุมใหญ่ยื่นต่อเลขานุการ ซึ่งคณะกรรมการต้องพิจารณาเรียกประชุมใหญ่ตามคำเรียกร้องภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำเรียกร้อง
  5. ขอตรวจสอบกิจการและทรัพย์สินของสมาคมได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อเลขานุการ หรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขานุการ
  6. พึงได้รับประโยชน์ตามฐานะ และสภาพของสมาชิก
  7. มีสิทธิติดต่อ ปรึกษาหารือเกี่ยวกับกิจการงานของสมาคมกับกรรมการ แต่ละบุคคลหรือทั้งคณะตามโอกาส
  8. มีสิทธิกรณีเห็นว่า การดำเนินงานของคณะกรรมการมีแต่จะทำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม อาจออกเสียงลงมติในที่ประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกที่มาประชุม ให้กรรมการออกจากตำแหน่งได้ทั้งคณะหรือเป็นรายบุคคล ก่อนครบกำหนดออกตามวาระได้
  9. มีสิทธิควบคุมการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตามข้อ 11(1)
  10. สมาชิกที่เสียค่าบำรุงสมาคมตามข้อ 13(2) เท่านั้น มีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือในการประชุมอื่นๆ ที่สมาคมจัดให้มีขึ้น
  11. สมาชิกที่เสียค่าบำรุงสมาคมตามข้อ 13(2) เท่านั้น มีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งเป็นกรรมการ
  12. มีสิทธิประดับเครื่องหมายหรือติดตราสมาคมไว้หน้าที่ทำการ หรือหัวกระดาษจดหมายของสมาชิก
  13. มีหน้าที่เคารพและปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบของสมาคม มติที่ประชุมใหญ่ มติที่ประชุมคณะกรรมการโดยเคร่งครัด
  14. มีหน้าที่รักษาเกียรติและผลประโยชน์ ส่วนได้ส่วนเสียของสมาคม และส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสมาคมให้เจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้าอยู่เสมอ
  15. มีหน้าที่ชำระเงินค่าบำรุงให้แก่สมาคม ตามกำหนดเวลา
  16. มีหน้าที่ให้เกียรติแก่สมาชิกด้วยกัน
  17. หากสมาชิกเปลี่ยนชื่อ ย้ายที่ตั้งสำนักงาน เปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ เปลี่ยนประเภทธุรกิจ เลิกประกอบธุระกิจ หรือเปลี่ยนผู้แทนนิติบุคคล จะต้องแจ้งให้เลขานุการสมาคมทราบเป็นหนังสือภายในกำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันที่เปลี่ยนแปลง

ข้อ 12. สิทธิหน้าที่ของสมาชิกวิสามัญ

สมาชิกวิสามัญ มีสิทธิและหน้าที่ตามความในข้อ 11 ยกเว้น 11(2) แต่ไม่มีสิทธิได้รับพิจารณาแต่งตั้ง เป็นกรรมการบริหาร


หมวดที่ 5: ค่าธรรมเนียมการสมัคร และค่าบํารุงสมาคมประจำปี


ข้อ 13. ค่าธรรมเนียมการสมัครเข้าเป็นสมาชิกและค่าบำรุงสมาคมประจำปี

  1. ค่าธรรมเนียมการสมัครเข้าเป็นสมาชิกให้ชำระแก่เหรัญญิก ในวันลงทะเบียนเป็นสมาชิก คือ สมาชิกสามัญ รายละ 2,000 บาท สมาชิกวิสามัญ รายละ 1,000 บาท
  2. ค่าบำรุงประจำปี สมาชิกสามัญ รายละ 3,000 บาท สมาชิกวิสามัญ รายละ 2,000 บาท
  3. สมาชิกกิตติมศักดิ์ไม่ต้องชำระค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงอย่างใดทั้งสิ้น
  4. สมาชิกเข้าใหม่ไม่ว่าจะเข้าในตอนใดของปี ต้องเสียค่าธรรมเนียมการสมัคร และค่าบำรุงประจำปีเต็มตามกำหนดไว้ หลังจากที่ได้รับหนังสือแจ้งตอบรับจากสมาคม
  5. เงินค่าธรรมเนียมการสมัครและค่าบำรุงประจำปี ที่ชำระให้สมาคมแล้ว จะไม่คืนไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น

ข้อ 14. ค่าบำรุงพิเศษ สมาคมอาจเรียกเก็บค่าบำรุงพิเศษจำนวนเท่าใดจากสมาชิกได้เป็นครั้งคราว โดยที่ประชุมใหญ่ลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุมทั้งหมด


หมวดที่ 6: คณะกรรมการของสมาคม


ข้อ 15. การเข้าดำรงตำแหน่ง ของกรรมการบริหารตำแหน่งต่าง ๆ ให้ที่ประชุมใหญ่เป็นผู้เลือกตั้ง กรรมการ จำนวน 9 คน แล้วให้กรรมการที่ได้รับเลือก จำนวน 9 คน พิจารณาสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมและให้นายกสมาคมเป็นผู้เลือกอุปนายกสมาคมจำนวนตามความเหมาะสม พร้อมทั้งพิจารณาแต่งตั้งบุคคลที่เป็นสมาชิกของสมาคมเข้าเป็นกรรมการบริหารเพิ่มเติม ได้อีกไม่เกิน 8 คน

 

ข้อ 16. คณะกรรมการของสมาคม อยู่ในตำแหน่งได้วาระละ 2 ปี และให้คณะกรรมการชุดเดิมรักษาการในตำแหน่ง จนกว่า คณะกรรมการชุดใหม่ จะรับมอบงานเสร็จ จึงจะถือว่าพ้นความรับผิดชอบในหน้าที่ ทั้งนี้ให้รับมอบงานให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

 

ข้อ 17. การเลือกตั้งกรรมการ ให้กระทำโดยวิธีให้สมาชิกเสนอชื่อสมาชิกสามัญ ซึ่งตนประสงค์จะให้เข้ารับเลือกตั้งเป็นกรรมการ ต่อที่ประชุมใหญ่ โดยมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 3 ท่าน แล้วให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติเลือกตั้ง ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงตามลำดับดำรงตำแหน่งกรรมการและคะแนนที่ได้ต้องเท่าหรือไม่น้อยกว่า 3 คะแนน ถ้ามีผู้ได้คะแนนเท่ากันในลำดับสุดท้ายก็ให้ใช้วิธีจับฉลาก

 

ข้อ 18. การพ้นจากตำแหน่งกรรมการ ในกรณีต่อไปนี้

  1. ตาย
  2. ลาออก
  3. ออกตามวาระที่ได้กำหนดไว้
  4. ขาดคุณสมบัติของสมาชิกหรือขาดจากสมาชิกภาพ
  5. พ้นจากการเป็นผู้แทนของสมาชิกสามัญ
  6. ขาดการประชุมคณะกรรมการสมาคม 3 ครั้งติดต่อกัน โดยไม่มีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยตนเองหรือผู้แทน
  7. ที่ประชุมใหญ่หรือคณะกรรมการมีมติให้ออก โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนผู้เข้าประชุม
  8. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์สั่งให้ออก ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พุทธศักราช 2509

ข้อ 19. กรณีกรรมการออกจากตำแหน่ง โดยไม่ครบตามกำหนดวาระ ให้สมาชิกที่ได้รับคะแนนรองลงไปในการเลือกตั้งกรรมการชุดที่อยู่ในตำแหน่งเข้าเป็นกรรมการแทนในตำแหน่งที่คณะกรรมการ จะพิจารณาเห็นสมควร ให้ผู้ที่มาแทนอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าอายุวาระของผู้ที่ตนแทน ถ้าตำแหน่งนายกสมาคมว่างลงก่อนกำหนดออกตามวาระ ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ให้คณะกรรมการของสมาคม ทำการเลือกตั้งนายกสมาคมคนใหม่ จากอุปนายกและให้ผู้ที่มาแทนอยู่ในตำแหน่งนายก เพียงเท่าอายุวาระของผู้ที่ตนแทน

 

ข้อ 20. อำนาจหน้าที่กรรมการของสมาคมในตำแหน่งต่างๆ มี

  1. จัดดำเนินกิจการและทรัพย์สินของสมาคมให้เป็นไปตามข้อบังคับและมติของที่ประชุม
  2. เลือกตั้งกรรมการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมการ
  3. วางระเบียบการในการปฏิบัติงานของสมาคมให้เป็นไปตามวัตถุที่ประสงค์
  4. ว่าจ้าง แต่งตั้ง และถอดถอน ที่ปรึกษาของคณะกรรมการ อนุกรรมการเจ้าหน้าที่และพนักงานทั้งปวง ในการทำกิจการ เฉพาะอย่าง หรือพิจารณาเรื่องต่าง ๆ อันอยู่ในขอบเขตหน้าที่ของสมาคม เพื่อให้การดำเนินงานของสมาคม เป็นไปโดยเรียบร้อย ที่ปรึกษาของคณะกรรมการและอนุกรรมการดังกล่าว จะแต่งตั้งจากกรรมการหรือสมาชิกของสมาคมหรือบุคคลภายนอกก็ได้

ข้อ 21. อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการของสมาคมในตำแหน่งต่างๆ มีดังนี้

  1. นายกสมาคม มีหน้าที่เป็นประธาน ของคณะกรรมการบริหาร และรับผิดชอบงานทุกอย่างตามวัตถุประสงค์ และระเบียบแบบแผนของสมาคม เป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับ บุคคลภายนอก
  2. อุปนายก มีหน้าที่ช่วยเหลือนายกสมาคมในกิจการทั้งปวง อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสมาคม ปฏิบัติงานแทนขณะนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติงานได้ รับผิดชอบงานที่นายกสมาคมมอบหมายให้เป็นเอกเทศ
  3. เลขานุการ มีหน้าที่ทำการโต้ตอบหนังสือ เก็บรักษาเอกสารต่าง ๆ ของสมาคม เป็นเลขานุการในการประชุมคณะกรรมการและที่ประชุมใหญ่ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
  4. เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน การบัญชี หลักฐานการเงิน เก็บเงินจากสมาชิก รับเงินจากผู้บริจาค ดูแลรักษาพัสดุ รายงานฐานะการเงินต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารประจำเดือน และต่อที่ประชุมใหญ่ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
  5. นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนประวัติหลักฐานของสมาชิก รักษาเอกสารหนังสือและปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
  6. ปฏิคม มีหน้าที่เกี่ยวกับรับรองสมาชิก แขก จัดสถานที่ในสำนักงาน จัดที่ประชุม จัดให้มีปาฐกถา สัมมนา เผยแพร่ความรู้ และปฏบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
  7. ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่สร้างภาพพจน์ที่ดี เผยแพร่ข่าวสารผลงานของสมาคม ชักชวนให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยว และปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
  8. กรรมการบริหาร มีหน้าที่ ช่วยเหลือและประสานงานทั่วไปตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

ข้อ 22. ในการประชุมคณะกรรมการ อนุกรรมการ ตลอดจนการประชุมใหญ่ ให้บันทึกรายงานการประชุมไว้ทุกครั้งและให้นำเสนอที่ประชุมเพื่อรับรองในการประชุมครั้งต่อไป


หมวดที่ 7: การประชุมใหญ่


ข้อ 23. การประชุมใหญ่ ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่สมาชิกอย่างน้อยทุกระยะเวลาสิบสองเดือน การประชุมเช่นนี้เรียกว่า การประชุมใหญ่สามัญ การประชุมใหญ่คราวอื่นนอกจากการประชุมใหญ่ตามวรรคก่อน เรียกว่า การประชุมใหญ่วิสามัญ

 

ข้อ 24. กำหนดการประชุมใหญ่

  1. ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ภายในกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันที่สิ้นปีการบัญชีของสมาคมเป็นประจำทุก ๆ ปี
  2. ถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่งซึ่งคณะกรรมการมีมติเห็นสมควร หรือสมาชิกมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดแสดงความจำนงโดยทำการร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อเลขานุการ หรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขานุการ ให้คณะกรรมการนัดประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่วันที่ลงมติหรือวันที่ได้รับหนังสือ

ข้อ 25. การส่งหนังสือบอกกล่าวนัดประชุม คณะกรรมการจะต้องส่งหนังสือบอกกล่าวถึงวันเวลา สถานที่ และระเบียบวาระการประชุมใหญ่ไปให้สมาชิกทุกคนได้ทราบโดยส่งจดหมายทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ณ ที่อยู่ของสมาชิกที่ปรากฏอยู่ในทะเบียน หรือส่งให้ถึงตัวสมาชิกก่อนกำหนดวันประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน การจัดส่งหนังสือบอกกล่าวตามวรรคแรก ให้ส่งสำเนาบันทึกรายงานการประชุมใหญ่ครั้งที่แล้ว (ถ้ามี) ไปด้วย ในกรณีที่เป็นการนัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องแนบสำเนารายงานประจำปีและสำเนางบดุล รวมทั้งสำเนาบัญชีรายรับ - รายจ่าย ซึ่งผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบแล้วเพิ่มเติมไปด้วย

 

ข้อ 26. องค์ประชุมในการประชุมใหญ่ ในการประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญมาประชุมไม่น้อย กว่าครึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมดจึงจะถือเป็นองค์ประชุม

 

ข้อ 27. กรณีการประชุมในครั้งแรกสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม หากล่วงพ้นกำหนดเวลานัดไป แล้วหนึ่งชั่วโมง ยังมีสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม ถ้าการประชุมใหญ่คราวนั้นได้เรียกนัดเพราะสมาชิกรองขอ ให้เลิกการประชุมใหญ่นั้น ถ้ามิใช่เพราะสมาชิกร้องขอ ให้เลื่อนการประชุมและให้ทำการบอกกล่าวนัดประชุมวัน เวลา และสถานที่ประชุมใหญ่นี้อีกครั้งหนึ่งภายในกำหนดเวลาสิบห้าวัน นับแต่วันประชุมใหญ่คราวแรก ในการประชุมใหญ่คราวหลังนี้จะมีสมาชิกมามากน้อยเพียงใดก็ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุม

 

ข้อ 28. ประธานในที่ประชุม ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุมใหญ่ ถ้านายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อุปนายกผู้มีอาวุโสตามลำดับทำหน้าที่แทน ถ้าทั้งนายกสมาคมและอุปนายกไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกรรมการคนหนึ่งคนใดขึ้นเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าไม่มีกรรมการอยู่ในที่ประชุมเลยก็ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งสมาชิกคนใดคนหนึ่งขึ้นเป็นประธา

 

ข้อ 29. วิธีออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ สมาชิกสามัญเท่านั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน และสมาชิกสามัญคนหนึ่ง ๆ มีคะแนนเสียงหนึ่งเสียงในการประชุมใหญ่ใด ๆ ข้อมติอันเสนอให้ลงคะแนน ให้ตัดสินด้วยวิธีชูมือ หรือวิธีการอื่นใดอันเป็นการเปิดเผยว่าสมาชิกใดลงคะแนนเช่นไร เว้นแต่เมื่อก่อนหรือในเวลาที่แสดงผลแห่งการชูมือนั้น คณะกรรมการเห็นสมควรหรือได้มีสมาชิกสามัญสองคนเป็นอย่างน้อยติดใจ ร้องขอให้ลงคะแนนลับ

 

ข้อ 30. มติของที่ประชุมใหญ่ นอกจากที่กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันจะเป็นการชูมือก็ดี การลงคะแนนลับก็ดี หรือด้วยวิธีการอื่นใดก็ดี ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีคะแนนอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

 

ข้อ 31. กิจการอันพึงกระทำในการประชุมใหญ่ มีดังนี้ .-

  1. รับรองรายงานการประชุมใหญ่คราวก่อน
  2. พิจารณารายงานประจำปี แสดงผลการดำเนินกิจการของสมาคมที่ผ่านมาในรอบปี (ถ้ามี)
  3. พิจารณาอนุมัติงบดุล (ถ้ามี)
  4. เลือกตั้งคณะกรรมการ (ในปีที่ครบวาระ)
  5. เลือกตั้งที่ปรึกษาของสมาคมประจำปี ผู้สอบบัญชีของสมาคมประจำปี และกำหนดค่าตอบแทน (ถ้ามี)
  6. กิจการที่ต้องกระทำโดยอาศัยมติจากที่ประชุมใหญ่

ข้อ 32. กิจการอันพึงกระทำในการประชุมสมาชิกประจำเดือน ได้แก่ กิจการอันเกี่ยวกับการปฏิบัติธุรกิจทั่วไปของสมาคม นอกจากกิจการที่จำเป็นจะต้องกระทำโดยการประชุมใหญ่สามัญประจำปีหรือการประชุมใหญ่วิสามัญ

 

ข้อ 33. การจัดทำรายงานบันทึกประชุม รายงานการประชุมคณะกรรมการ การประชุมใหญ่ การประชุมสมาชิกอื่น ๆ และการประชุมอนุกรรมการ ให้จดบันทึกไว้ทุกครั้ง และต้องเสนอต่อที่ประชุมเพื่อรับรองในคราวที่มีการประชุมครั้งต่อไป รายงานการประชุมที่ผ่านการรับรองแล้ว สมาชิกจะดูได้ในวันและเวลาทำการ

 


หมวดที่ 8: การเงิน เงินทุนพิเศษ และการบัญชีของสมาคม


ข้อ 34. วันสิ้นปีทางบัญชี ให้ถือเอาวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ้นปีทางบัญชีของสมาคมการค้า

 

ข้อ 35. การจัดทำงบดุล ให้คณะกรรมการจัดทำงบดุลที่เป็นอยู่ ณ วันสิ้นปีทางบัญชีนั้นแล้วส่งให้ผู้สอบบัญชีไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และผู้สอบบัญชีจะต้องตรวจสอบให้แล้วเสร็จก่อนวันประชุมใหญ่ประจำปีไม่น้อยกว่าสามสิบวันงบดุล ซึ่งผู้สอบบัญชีได้รับรองแล้ว คณะกรรมการต้องดำเนินการเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี เมื่อเสนองบดุล ให้คณะกรรมการเสนอรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสมาคมต่อที่ประชุมใหญ่ด้วย ให้สมาคมส่งสำเนารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสมาคมกับงบดุลไปยังนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดภูเก็ต ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมใหญ่ อนึ่ง ให้เก็บรักษารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสมาคมกับงบดุลไว้ที่สำนักงานของสมาคม เพื่อให้สมาชิกขอตรวจดูได้

 

ข้อ 36. อำนาจของผู้สอบบัญชี ผู้สอบบัญชีมีอำนาจเข้าตรวจสอบสรรพสมุด บัญชีและบรรดาเอกสารเกี่ยวกับการเงินของสมาคม และมีสิทธิสอบถามกรรมการตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสมาคมทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชีและเอกสารดังกล่าว ในการนี้กรรมการและเจ้าหน้าที่จะต้องช่วยเหลือและให้ความสะดวกทุกประการเพื่อการสอบเช่นว่านั้น

 

ข้อ 37. การเก็บรักษาสมุดบัญชีและเอกสารการเงิน จะต้องเก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานของสมาคมและให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบเหรัญญิก

 

ข้อ 38. การเงินของสมาคม เงินสดของสมาคมจะต้องนำฝากไว้ ณ ธนาคารพาณิชย์แห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดซึ่งสมาคมนี้ตั้งอยู่ในนามของสมาคม โดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ให้มีเงินทดรองจ่ายเกี่ยวกับกิจการของสมาคมไม่เกินวงเงิน 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน) ในการนี้เหรัญญิกเป็นผู้รับผิดชอบและเก็บรักษาตัวเงิน การฝากและการถอนเงินจากธนาคาร ให้อยู่ในอำนาจของนายกสมาคมหรืออุปนายกหรือกรรมการคนใดคนหนึ่ง โดยมติของที่ประชุมคณะกรรมการลงนามร่วมกับเหรัญญิก

 

ข้อ 39. การจ่ายเงินของสมาคม ให้นายกสมาคม อุปนายก หรือเลขานุการคนใดคนหนึ่ง มีอำนาจสั่งจ่ายเงินเกี่ยวกับกิจการของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 5,000บาท(ห้าพันบาทถ้วน) ในการจ่ายเงินครั้งละเกินกว่า 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน) ให้กระทำโดยมติจากที่ประชุมคณะกรรมการทุกครั้งไป

 

ข้อ 40. เงินทุนพิเศษ สมาคมอาจหาเงินทุนพิเศษเพื่อมาดำเนินกิจการและส่งเสริมความก้าวหน้าของสมาคมได้โดยการเชื้อเชิญบุคคลภายนอก และสมาชิกร่วมกันบริจาคหรือกระทำการอื่นใด ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรและไม่ขัดต่อกฎหมาย

 


หมวดที่ 9: การแก้ไขข้อบังคับ การเลิกสมาคม และการชําระบัญชี


ข้อ 41. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัดทอนหรือเพิ่มเติมข้อบังคับ จะกระทำได้แต่โดยมติของที่ประชุมใหญ่ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุมทั้งหมด

 

ข้อ 42. การเลิกสมาคม สมาคมนี้อาจเลิกได้ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดดังต่อไปนี้ .-

  1. เมื่อที่ประชุมใหญ่ลงมติให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุมทั้งหมด
  2. เมื่อล้มละลาย
  3. เมื่อรัฐมนตรีว่าการประทรวงพาณิชย์สั่งให้เลิกตามมาตรา 36 แห่ง พระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509

ข้อ 43. การชำระบัญชี เมื่อสมาคมนี้ต้องเลิกไปเพราะเหตุหนึ่งเหตุใดดังกล่าวในข้อ 42 การชำระบัญชีของสมาคม ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ.2509 มาใช้บังคับ ในกรณีที่สมาคมต้องเลิกไปตามข้อ 42 (1) ให้ที่ประชุมใหญ่คราวนั้นลงมติเลือกตั้งกำหนดตัวผู้ชำระบัญชีเสียด้วย และหากต้องเลิกไปตามข้อ 42 (3) ให้กรรมการทุกคนในคณะกรรมการชุดสุดท้ายที่ได้จดทะเบียนเป็นกรรมการต่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำ เป็นผู้ชำระบัญชี หากมีทรัพย์สินของสมาคมเหลือจากการชำระบัญชี ให้ยกให้แก่นิติบุคคลในประเทศไทยที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกุศลสาธารณะแห่งหนึ่งแห่งใด หรือหลายแห่งตามมติของที่ประชุมใหญ่


หมวดที่ 10: บทเฉพาะกาล


ข้อ 44. เมื่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำ จังหวัดภูเก็ต ได้อนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมแล้ว ให้ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งทุกคนทำหน้าที่คณะกรรมการ (ชั่วคราว) จนกว่าจะได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการตาม ข้อบังคับนี้ ซึ่งจะต้องจัดให้มีขึ้นภายในกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง เป็นสมาคมแล้ว ภายใต้บังคับแห่งความในวรรคแรก กรณีที่มีการประชุมใหญ่เลือกตั้งคณะกรรมการชุดแรกใน ช่วงเวลาน้อยกว่าสามเดือน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสมาคม ให้ถือเอาวันสิ้นปีทางบัญชีของสมาคมเป็นวันตั้งต้นคำนวณวาระกรรมการตามข้อ 16


ข้อ 45. ให้ใช้ข้อบังคับนี้ ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดภูเก็ต ได้อนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมเป็นต้นไป